หน้าแรก บทความ

ฉายหนังสั้นสิทธิมนุษยชน พูดเรื่อง ‘คนเท่ากัน’ ที่ชายแดนใต้

Film on tour สื่อศิลป์ ปี 4 ตอน Human right “คนเท่ากัน” ภาพยนตร์สั้นส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ทั้ง 4 เรื่องถูกฉาย ณ ห้อง B103 คณะวิทยาการสื่อสาร ม.อ.ปัตตานี ในเวลาบ่าย 2 ของวันที่ 22 มีนาคม 2560 โดยมีนักศึกษา อาจารย์ นักกิจกรรมและผู้สนใจร่วมกว่า 50 คน

‘มันนิ ฮานิ’ โดย ‘บุญชัย กัลยาศิริ’ ถ่ายทอดเรื่องราวของปอย หนุ่มมันนิ (ซาไก) แห่งเทือกเขาบรรทัดในเขตจังหวัดสตูล ญาติและเพื่อนพี่น้องในเพิงพักอาศัยท่ามกลางนักท่องเที่ยวที่แห่แหนเที่ยวชมบรรยากาศธรรมชาติ ป่าเขา ถ้ำ น้ำตก และหนึ่งในแพ็กเกจของการท่องเที่ยวคือการเยี่ยมชมเพิงพักอาศัยของมันนิ ภายใต้โลกาภิวัฒน์ รัฐชาติ สิทธิมนุษยชน กับความรู้สึกและสิ่งที่ต้องการของมันนิ

ขณะที่ ‘พลเมืองบุญมา’ โดย ‘อุรุพงศ์ รักษาสัตย์’ ถ่ายทอดเรื่องราวของบุญมา หนุ่มฉกรรจ์ลูกทุ่งคนหนึ่งในหมู่บ้านชนบทของจังหวัดเชียงรายผู้ไม่ยอมรับโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลทุ่งหลวง บุญมาขึ้นป้ายผ้าคัดค้านหน้าบ้าน สู้กับการโฆษณาผ่านป้ายใหญ่ งานมวลชนสัมพันธ์ของบริษัทที่ให้เงินช่วยงานบุญของหมู่บ้านและการแจกเสื้อ ขณะที่ผู้ใหญ่บ้านเห็นด้วยกับโครงการ วันหนึ่งป้ายผ้าคัดค้านของบุญมาถูกเผาทำลาย และคนแรกที่บุญมาสงสัย คือผู้ใหญ่บ้าน เขาหยิบปืนมุ่งสู่งานบุญที่มีผู้ใหญ่บ้านนั่งร่วมอยู่ ขณะที่อีกฝากหนึ่งรถมอเตอร์ไซค์ที่มีมือปืนซ้อนท้ายมุ่งสังหารเขา

ด้าน ‘ปราสาทเสือ’ โดย ‘พัฒนะ จิรวงศ์’ ถ่ายทอดเรื่องราวของหญิงสาวคนหนึ่งซึ่งมีบ้านเกิดในจังหวัดพัทลุงสืบสาวเรื่องราวของพ่อซึ่งเสียชีวิตเมื่อครั้งสงครามเย็นที่ค่ายโลกเสรีภายใต้การนำของสหรัฐอเมริกา ต่อสู้กับค่ายโลกคอมมิวนิสต์ที่นำโดยสหภาพโซเวียต (รัสเซีย) เทือกเขาบรรทัด (นครศรีธรรมราช พัทลุง ตรัง สงขลา และสตูล) คือสมรภูมิหนึ่งสำหรับการต่อสู้กันของผู้เห็นต่างระหว่างรัฐไทยกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) การดำเนินชีวิตของชาวบ้านจึงอยู่ระหว่างเขาควาย และบาดแผลใหญ่หนึ่งของรัฐไทยทางประวัติศาสตร์ คือ ถีบลงเขาเผาถังแดง

ส่วน ‘อัลไตแลนด์’ โดย ‘สันติ เเต้พานิช’ สะท้อนแวดวงโทรทัศน์ และสื่อสารมวลชนที่มีความตลกร้าย ละคร เกมส์โชว์ ที่นำเสนอจนได้รับความนิยมคือ ละครเกี่ยวกับ แฮ็ตสปีด ตบตีทำร้ายร่างกาย ละครย้อนยุคที่นำเสนอความสัมพันธ์ระหว่างทาส นายทาส เน้นความอดทน และเชื่อฟัง ขณะที่เกมส์โชว์เน้นการความวาบหวิวเซ็กซี่ของผู้หญิง เรื่องผีเรื่องราวลี้ลับ และเน้นความรันทดบีบน้ำตาให้น่าสงสาร เป็นต้น

นิติธร ทองธีรกุล หัวหน้างานกิจกรรมเครือข่าย สำนักเครือข่ายสื่อสารสาธารณะ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส (Thai PBS)

สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส (Thai PBS) ร่วมกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติร่วมกันดำเนินโครงการโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เป็นพื้นที่ให้เยาวชนได้มาแสดงฝีมือเรื่องการเขียนบท การทำภาพยนตร์สั้น ด้วยหวังว่าภาพยนตร์จะเป็นอีกช่องทางหนึ่งเพื่อบอกเล่าถึงความเหลื่อมล้ำทางสิทธิมนุษยชน

‘นิติธร ทองธีรกุล’ หัวหน้างานกิจกรรมเครือข่าย สำนักเครือข่ายสื่อสารสาธารณะ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส (Thai PBS) บอกถึงที่มาของโครงการที่ดำเนินมา 4 ปี ซึ่งแต่ละปีมีความแตกต่างกันไปในแก่นเนื้อหาที่กำหนด

นิติธร บอกว่า ในปี 2559 สื่อศิลป์ปี 4 ใช้ชื่อตอนว่า “คนเท่ากัน” ซึ่งมีทั้งการประกวดคนเขียนบทภาพยนต์สั้น การประกวดภาพยนต์สั้นเกี่ยวกับกลุ่มเยาวชนอายุ 18-25 ปี จากนั้นนำบทภาพยนต์สั้นที่ผ่านการประกวด เราให้ผู้กำกับเลือกเอามาปรับเอามาพัฒนา มาปรับมาทำเป็นภาพยนตร์ แล้วเราก็มีการนำมาฉายเปิดตัวตามภูมิภาคต่างๆ ก่อนที่จะออกอากาศฉายทางไทยพีบีเอส

“เราก็นำไปฉายตามพื้นที่ต่างๆเพื่อที่จะนำหนังเรามาเผยแพร่ให้กับคนในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งแฝงความรู้เรื่องสิทธิมนุษยชน แล้วได้ชวนผู้กำกับทั้ง 4 ท่าน ที่ผลิตหนัง มาแลกเปลี่ยนพูดคุยกับคนในพื้นที่ กับน้องๆนักศึกษา ที่มาดูหนัง อย่างเช่นวันนี้ที่มาดูหนัง เรามองว่าถ้านำหนังไปออกอากาศทางไทยพีบีเอสอย่างเดียว ดูแล้วมันก็จบคนอาจจะได้ดูหรือไม่ได้ดูบ้าง เราคิดว่าการแลกเปลี่ยนในพื้นที่นี้มีความสำคัญ” นิติธร อธิบาย

นิติธร อธิบายถึงโครงการว่าเป็นพื้นที่ให้เยาวชนได้มาแสดงฝีมือเรื่องการทำหนัง เรื่องการเขียนบท เป็นโครงการประกวดที่มีเงินรางวัล แล้วผลงานที่ได้จะนำไปเผยแพร่ทางไทยพีบีเอส ขณะเดียวกันให้เยาวชน ที่มาร่วมโครงการก็ได้เรียนรู้ผ่านการอบรมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับประเด็นที่กำหนดขึ้นในปีนั้นๆ อย่างปีแรกเกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อม ปีที่2 เกี่ยวกับเรื่องแม่น้ำโขง ปีที่ 3 เรื่องข้าว ปีที่ 4 เรื่องสิทธิมนุษยชน

“ส่วนปี 5 พ.ศ. 2560 ที่จะเริ่มอีกครั้งเกี่ยวกับภาคใต้ เรื่องทรัพยากรตั้งแต่ชุมพรไล่มาจนถึงนราธิวาส มีโครงการแผนพัฒนามากมาย แล้วเป็นไปได้ว่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งมีคนเสนอภายใต้หัวข้อเกี่ยวกับภาคใต้น่าจะอาจจะมีสัก 4-5 ประเด็นเพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการเลือก สนใจจะทำเรื่องอะไร” นิติธร เล่า

นูรดีน กาซอ นักศึกษาชั้นปี 1 จากคณะวิทยาการสื่อสาร

นูรดีน กาซอ นักศึกษาชั้นปี 1 จากคณะวิทยาการสื่อสาร ม.อ.ปัตตานี ซึ่งภูมิลำเนาบ้านเกิดเขา คือ ปัตตานี เขาบอกว่าเขารู้สึกได้ข้อมูลใหม่ ทัศนคติใหม่ของผู้กำกับที่ทำหนังดีๆ

“โดยส่วนตัวชอบรูปแบบแนวคิด ทั้งที่เป็นภาพ ที่สื่ออกมา มันดูจริง เหมือนเราได้ดูความจริงของสังคม ความจริงในเรื่องของสิทธิมนุษยชน ชอบหนังเรื่องพลเมืองบุญมา สะท้อนความจริงของสังคมปัจจุบัน สื่อในเรื่องของการตั้งคำถามกับสังคมว่า การแสดงออกความคิดเห็นทางสังคม เพราะความคิดของคนอิสระ กับบางคนที่เขาไม่เห็นด้วยเขาจะต่อต้าน เพราะกฎหมายไม่ได้เขียนว่าความคิดแบบนี้ผิด แล้วผลสุดท้ายมันสะท้อนในเรื่องของการเสนอความคิดใน 3 จังหวัดชายแดนใต้” นูรดีน แสดงความคิดเห็น

อัลอามีน อะแด นักศึกษาชั้นปี 2 สาขานวัตกรรมการออกแบบ คณะวิทยาการสื่อสาร

อัลอามีน อะแด นักศึกษาชั้นปี 2 สาขานวัตกรรมการออกแบบ คณะวิทยาการสื่อสาร ม.อ.ปัตตานี ภูมิลำเนาเป็นคนจังหวัดยะลา เป็นคนหนึ่งที่สนใจเรื่องสิทธิมนุษยชน

“ที่ยะลา เป็นอีกหนึ่งพื้นที่มีจำนวนซาไกมาก ก่อนหน้านี้มีผู้ให้ความสนใจเข้าไปทำข่าว เข้าไปให้ความช่วยเหลือ พอกระแสลดลง คนไม่ได้ให้ความสำคัญอีกเลย เรื่องอัลไตแลนด์ เขาพยายามสะท้อนว่าเราไม่จำเป็นต้องเชื่อเขาทั้งหมด โดยที่ผู้เสพสื่อเองจะต้องวิเคราะห์ ใช้วิจารณญาณในการเสพสื่อ แต่สังคมของเราในปัจจุบัน ขึ้นชื่อว่าผู้เชี่ยวชาญ เราจะเชื่อไปเองโดยปริยาย” อัลอามีน อธิบายความคิดเห็น

อัลอามีน เชื่อมโยงหนังกับสถานการณ์ชายแดนใต้ เขาเห็นว่า มีการนำเสนอบิดเบือนของสื่อในการนำเสนอข่าว การผิดจรรยาบรรณ การนำเหตุการณ์เล็กๆน้อย ไปนำเสนอให้กับคนนอกพื้นที่ ให้เขาเห็นว่านี้พื้นที่นี้มันสีแดง ทั้งๆที่ ในบางทีมันเว้นช่วงเหตุการณ์ และมีมุมอื่นๆ ของพื้นที่ สื่อนำเสนอจนสร้างอคติให้กับคนนอกพื้นที่

“อย่างเช่นคนจาก 3 จังหวัดชายแดนใต้ไปกรุงเทพ พอขึ้นแท็กซี่ สิ่งแรกที่เขาจะถามคือ พกระเบิดมาหรือเปล่า มันเป็นเรื่องวาทะที่สร้างคนร้ายโดยที่เขาไม่รู้ตัว ลองนึกดูว่า คนทุกคนมีพื้นฐานครอบครัวที่ต่างกัน โดยบางครอบครัวเป็นครอบครัวที่ประสบเหตุ บางคนไม่ได้รับผลกระทบอะไร คนบางกลุ่มที่ถูกถามก็ต้องมีคิดกันบ้างว่า บ้านเรานี้แย่ขนาดนี้เลยหรอ มันทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันทางสังคมคนนอกพื้นมองว่า คน 3 จังหวัดชายแดนใต้ เขาจะมาทำอะไรหรือเปล่า มีระเบิดหรือเปล่าแม้กระทั่ง ป้ายทะเบียนรถก็ยังถูกมองไปในแง่ไม่ดี ทั้ง ปัตตานี ยะลา นราธิวาส โดยกลุ่มป้ายทะเบียนรถเหล่านี้จะถูกจับตามองเป็นพิเศษ”

อัลอามีน สะท้อนความรู้สึก ด้วยเหตุนี้เขาซึ่งกำลังเรียนด้านสื่อและอยากทำสื่อ โดยเขามองว่าสื่อมันมีมากอยู่แล้ว แต่สื่อที่นำเสนอมุมมองชายแดนใต้ในมุมความสวยงามน้อยมาก เขาจึงอยากเป็นนักสื่อสารคนหนึ่งที่ได้เสนอมุมมองพื้นที่ทั้งในรูปแบบอัตลักษณ์และความสวยงามที่ยังไม่ได้ถูกเผยแพร่ไปต่อสาธารณชน

นรินทร์ ปากบารา นักกิจกรรม

นรินทร์ ปากบารา’ นักกิจกรรมซึ่งสำเร็จการศึกษาจากคณะวิทยาการสื่อสาร ม.อ.ปัตตานีหมาดๆ และเธอยังเป็นสมาชิกสภาผู้ชมผู้ฟังไทยพีบีเอสด้วย แม้ถิ่นกำเนิดเธอไม่ใช่คนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทว่าเธอผูกพันกับที่นี่

นรินทร์ เห็นว่า การเอาหนังเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนมาฉาย เป็นวิธีการทำให้การพูดถึงเรื่องสิทธิมนุษยชนดูซอฟลง เป็นวิธีการที่ทำให้กล้าพูดนำเสนอเรื่องสิทธิมนุษยชนมากขึ้น คนที่สนใจด้านสิทธิมนุษยชนด้วยระดับหนึ่งถึงจะเข้าใจ และตีความหนังได้ การแลกเปลี่ยนมันอาจจะได้อรรถรสกว่านี้ อยากให้มีกิจกรรมแบบนี้อีก

นรินทร์ ชอบเรื่องปราสาทเสือมากที่สุด เธอคิดว่าในวิธีการเล่าเรื่อง คนในความเป็นมนุษย์ชอบในความลี้ลับ ชอบที่จะค้นหา เรื่องที่จะหยิบแบบนั้นมาเล่า ผนวกกับประเด็นที่ถูกกดทับที่ถูกกระทำ ซึ่งใช้เวลานาน มันประเด็นที่อธิบายได้ยาก แต่เล่าผ่านการจินตนาการ การลี้ลับ ชอบที่สะท้อนให้เห็นว่า คนที่เป็นผู้กระทำนั้นรู้สึกอย่างไร เพราะว่าทำให้เห็นภาพการที่เขากระทำคนอื่น ที่บอกว่าความรู้สึกยังคงวนเวียนอยู่ ยังคิดอยู่ตลอด

“เรื่องมันนิ ฮานิ เป็นเรื่องเกี่ยวกับชาติพันธุ์ การถูกกดทับ ความไม่เท่าเทียมกัน เรื่องของปราสาทเสือเรื่องความขัดแย้ง อำนาจลี้ลับ อำนาจทางการเมืองบางอย่างที่มันลี้ลับด้วย เรื่องอัลไตแลนด์ แน่นอนว่าในพื้นที่การสื่อสารมีบทบาทมากเลยต่อพื้นที่ เรื่องอัลไตจะพูดถึงบทบาทของสื่อมวลชน เป็นภาพกว้างๆ แล้วสุดท้ายแล้วจะพูดถึงจรรยาบรรณ สังคมจะได้อะไร เรื่องราวของเราจะถูกส่งสาส์นไปอย่างไร ถ้าถูกผู้ส่งสาส์นที่ไร้ซึ้งจรรยาบรรณส่งสาส์นไปสู่สังคมภายนอก สื่อหลักที่เป็นปัญหาอยู่ตอนนี้ ที่ให้ภาพของพื้นเพียงแค่มิติเดียว ขาดความตระหนักว่าคนในพื้นที่จะได้อะไร ผู้รับสาส์นจะได้รับอะไร” นรินทร์ เชื่อมโยงเนื้อหาหนังกับสถานการณ์ชายแดนใต้

ทั้งหมดนี้ คือ มุมมองความเห็น ความรู้สึกของนักศึกษา และนักกิจกรรมบางส่วนหลังร่วมกิจกรรม Film on tour สื่อศิลป์ ปี 4 ตอน Human right “คนเท่ากัน” ภาพยนตร์สั้นส่งเสริมสิทธิมนุษยชน โครงการร่วมของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส (Thai PBS) กับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ