หน้าแรก บทความ

โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา : อำนาจ อิทธิพล ผลประโยชน์ และประชาชน?

เมื่อเวลา9.00น.วันที่8เมย.ที่มอ.ปัตตานีเครือข่ายเดินหยุดถ่านหินได้อ่านแถลงการณ์และเริ่มออกเดินทางไปยังอำเภอเทพา (ขอบคุณข้อมูล/ภาพ จากเพจพลังพลเมืองร่วมสร้างภาคใต้น่าอยู่)

โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่จะสร้างในอำเภอเทพา ขนาด 2,200 เมกะวัตต์ ซึ่งมีแผนที่จะสร้างขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ ถือเป็นอีกหนึ่งโครงการอภิมหาโปรเจกของรัฐบาล ซึ่งตั้งอยู่บนเนื้อที่ 2,960 ไร่ บริเวณริมทะเล ต.ปากบาง อ. เทพา จ.สงขลา ซึ่งหากโครงการดังกล่าวนี้สามารถลุล่วงดำเนินการจนแล้วเสร็จตามระยะเวลาของโครงการที่ได้วางไว้ นั่นหมายถึงประชาชนที่อยู่ในละแวกรอบนอกของโครงการดังกล่าว จะได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน

จากข้อมูลที่ได้มีการเผยแพร่ในใบปลิวที่ทางกลุ่มเครือข่ายคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาใช้ในกิจกรรมรณรงค์ต่อต้านโครงการถ่านหินดังกล่าวทำให้รู้ว่าผลกระทบนั้นค่อนข้างน่าหวาดหวั่นมิใช่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของคนที่อาศัยอยู่ในอาณาบริเวณของโครงการดังกล่าว จากชั้นบรรยากาศที่เต็มไปด้วยควันพิษที่เกิดจากการเผา ถ่านหินเป็นระยะเวลานาน ซึ่งว่ากันว่าโครงการนี้จะมีอายุการใช้งานอยู่ที่อย่างน้อยเป็นเวลา 40 ปี นั่นก็เท่ากับระยะเวลาที่ชุมชนในละแวกใกล้เรือนเคียงในรัศมีจากโครงการหลายสิบกิโลเมตร ต้องรับกรรมอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้ ถึงแม้ว่าก่อนหน้านี้หรือระหว่างนี้ทางฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะพยามมาอธิบายแก่ชาวบ้านก็แล้ว ซึ่งมันก็เป็นเพียงแค่ทฤษฏีทางวิชาการ ที่มิอาจเป็นความจริงได้เสมอไป

ที่สำคัญพื้นที่การจัดตั้งโครงการถ่านหินดังกล่าว ตั้งอยู่ริมทะเลและเป็นแหล่งอาหารตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นแห่งข้าวแหล่งน้ำของผู้คนในอำเภอเทพามานานนับตั้งแต่อดีต หากผลกระทบเกิดขึ้นต่อระบบนิเวศแล้ว นั่นเท่ากับว่าคนรุ่นหลังหรือรุ่นต่อไป คงต้องระหกเร่ร่อนออกจากพื้นที่การทำมาหากินอย่างที่เคยทำอยู่

จะว่าไปแล้วอภิมหาโปรเจกเช่นนี้ มันย่อมมีผลกระทบเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างแน่นอน ส่วนการออกมาอ้างของคนบางกลุ่มที่พยายามผลักดันโครงการดังกล่าวนี้ให้สามารถดำเนินการได้จนบรรลุเป้าเหมาย ที่จะเอาประเทศชาติมาประกอบในสำนวนกระดาษรายงานเพื่อให้มีความสวยหรูในเหตุและผล ทว่าเมื่อมองดูจากสภาพความเป็นจริงแล้วผลเสียย่อมมีมากกว่าผลดี

มุสตาซีดีน วาบา ตัวแทนจากเปอร์มาตามัส กำลังชี้แจงทำความเข้าใจกับสัปบุรุษหลังละหมาดวันศุกร์ที่มัสยิด ซึ่งได้รับการตอบรับจากประชาชนเป็นอย่างดี (ขอบคุณข้อมุลภาพจาก สุมิตร แสงวนิชย์)
มุสตาซีดีน วาบา ตัวแทนจากเปอร์มาตามัส กำลังชี้แจงทำความเข้าใจกับสัปบุรุษหลังละหมาดวันศุกร์ที่มัสยิด ซึ่งได้รับการตอบรับจากประชาชนเป็นอย่างดี (ขอบคุณข้อมุลภาพจาก สุมิตร แสงวนิชย์)

นี่คือส่วนหนึ่งของผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นหากโครงการถ่านหินเทพาสามารถดำเนินการได้ตามแผน ที่ทางกลุ่มเปอรมาตามัส ได้แจกเผยแพร่ให้กับชาวบ้านตลอดระยะเวลาของการเคลื่อนไหว

1 การเผาถ่านหินมากถึงวันละ 23 ล้านกิโลกรัมตลอด 24 ชั่วโมง ปล่อยควันมลพิษทั้งควันที่มองเห็นและสารพิษที่มองไม่เห็นฝุ่นขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอนจะกระจายทั่วทั้งสงขลาและปัตตานี

2 ถ่านหินทุกประเภทไม่สะอาด ถ่านหินเทพามีโลหะหนักปะปนมามากถึง 250,000 กิโลกรัม/ปี แม้มีเครื่องบำบัดก็ไม่หมด และยังปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อม และสร้างหายนะต่อสุขภาพ

3 มลสารจะตกมาพร้อมฝนและน้ำทิ้งลงทะเลกว่า 9 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน จะทำให้สัตว์น้ำในอ่าวสงขลา-ปัตตานี ปนเปื้อนโลหะหนักและสารพิษจนกินไม่ได้นากุ้งจะร้าง การเลี้ยงปลาในกระชังจะหมดไป

4 ป่าชายเลนทั่วบริเวณคลองตุหยงและคลองสาขาอันซับซ้อน ซึ่งตั้งอยู่ข้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพากว่า10,000 ไร่ จะเสื่อมโทรมลง แหล่งเพาะฟักสัตว์น้ำวัยอ่อนของอ่าวเทพาและอ่าวปัตตานีจะหมดไป

5 เกิดหายนะจากบ่อเก็บขี้เถ้าถ่านหินขนาดเกือบพันไร่ริมทะเล ทรายและท้องทะเลจะเป็นสีดำ เหมือนที่เกิดขึ้นแล้วที่มาบตาพุด จ.ระยอง

6 สะพานท่าเรือขนถ่ายถ่านหินที่ยื่นไปในทะเลถึง3 กิโลเมตร และเขื่อนกั้นน้ำทะเล จะสร้างหายนะทำให้เกิดการกัดเซาะชายหาดเทพาที่สวยงามอย่างรุนแรง

7 ชาวประมงพื้นบ้านเทพา-หนองจิก-ปัตตานี ซึ่งมีเรือประมงพื้นบ้านรวมกว่า 1,000 ลำคืออาชีพแรกที่จะทยอยล่มสลายและสูญหายไปในที่สุด

8 ต้องย้ายชาวบ้านกว่า 240 ครัวเรือน, ย้าย 2 มัสยิด 2 กุโบร์ (สุสาน) 1 วัด และ 1 โรงเรียนปอเนาะเพราะพื้นที่บริเวณโครงการต้องถมดินสูง 5-8 เมตรหากไม่ย้ายออกก็จะทนต่อภาวะน้ำท่วมและมลพิษไม่ได้

9 สร้างหายนะให้เกิดภาวะโลกร้อนและผืนแผ่นดินแห้งแล้งรุนแรงขึ้น อันเป็นผลจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกว่า 14 ล้านตันต่อปี นานตลอด 40 ปีของอายุโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา

10 ลำพังวิกฤตปัญหาไฟใต้ก็ทำให้ประชาชนทุกข์เข็ญแสนสาหัสมากพอแล้ว ทำไมต้องสร้างหายนะจากความแตกแยกในชุมชน และสร้างมลพิษจากโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาให้กับคนสงขลาและคนปัตตานีเพิ่มอีก

จะเห็นได้ว่าความน่าจะเป็นเหล่านี้ย่อมเกิดขึ้นได้หากโครงการดังกล่าวถูกดำเนินการ นั่นหมายความว่าความโหดร้ายกำลังจะมาเยือนอย่างเงียบๆ จนกว่าพื้นที่แห่งนี้รวมทั้งผู้คนจะกลายเป็นคนที่คอยสูดดมมลพิษทั้งทางอากาศและทางน้ำ

ซึ่งการเคลื่อนไหวล่าสุดทางเครือข่ายเดินหยุดถ่านหินมีการจัดกิจกรรมเพื่อรนณรงค์ชี้แจงกับชาวบ้าน ด้วยการเดินเท้าจากปัตตานีไปยังอำเภอเทพาเท้าระยะทางกว่า 40 กิโลเมตรไปยังบ้านคลองประดู่ ต.ปากบาง อ.เทพา จ.สงขลา เพื่อสื่อสารความคิดเห็นของพวกเขาต่อโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน จากนั้นได้มีการอ่านแถลงการณ์เชิญชวนประชาชนร่วมคัดค้านโครงการดังกล่าว ที่มีแต่ความเสียหายต่อสังคมมากกว่าผลดีดังที่หน่ายงานบางหน่วยงานพยายามออกมาปกปิดความจริง ยิ่งไปกว่านั้นกระบวนการดำเนินการทุกขั้นตอนทุกอย่างไร้ความโปร่งใสไร้ซึ่งความชอบธรรม

โดยเมื่อวันศุกร์ที่ 8 เมษายน 2559 ที่ผ่านมาทางเครือข่ายเดินหยุดถ่านหินซึ่งมีตัวแทนของเครือข่ายภาคประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพหรือ (PERMATAMAS) เครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน และเครือข่ายนักศึกษา ม.อ.ปัตตานี เพื่อความเป็นธรรม ได้อ่านแถลงการณ์และได้ออกเดินจาก จ.ปัตตานี สู่ อ.เทพา จ.สงขลา เพื่อรณรงค์คัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กำลังอยู่ในขั้นตอนของการเตรียมการต่างๆ ซึ่งมีเนื้อหาดังนี้

 เมื่อเวลาประมาณ16.00น. วันที่ 9 เมษายน 2559 เครือข่ายเดินหยุดโรงไฟฟ้าถ่านหินจากปัตตานะ-เทพาเดินมาถึงที่หมายของวันที่2ในการเดินคือสำนักงานคณะกรรมการอิสลามจ.ปัตตานี (ขอบคุณข้อมูล/ภาพ จากเพจพลังพลเมืองร่วมสร้างภาคใต้น่าอยู่)
เมื่อเวลาประมาณ16.00น. วันที่ 9 เมษายน 2559 เครือข่ายเดินหยุดโรงไฟฟ้าถ่านหินจากปัตตานะ-เทพาเดินมาถึงที่หมายของวันที่2ในการเดินคือสำนักงานคณะกรรมการอิสลามจ.ปัตตานี (ขอบคุณข้อมูล/ภาพ จากเพจพลังพลเมืองร่วมสร้างภาคใต้น่าอยู่)

แถลงการณ์ เชิญชวนพี่น้อง ร่วมเดินเพื่อ “ต่อลมหายใจ คนชายแดนใต้”

โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จังหวัดสงขลา โดย กฟผ.และรัฐบาล เป็นโครงการโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ถึง 2,200 เมกะวัตต์ ตั้งบนพื้นที่ 3,000 ไร่ ใช้ถ่านหินมาเผาวันละ 23 ล้านกิโลกรัม ใช้น้ำทะเลในกระบวนผลิตวันละ 9 ล้านลูกบาศก์เมตร โครงการดังกล่าวส่งผลเสียอย่างมากต่อประชาชนอันได้แก่ ด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งตัวท่าเรือและการใช้น้ำทะเลและปล่อยน้ำทิ้งลงทะเล ส่งผลต่อทะเล การกัดเซาะชายฝั่ง การดำรงชีวิตของปูปลากุ้งหอย ทำลายการประมงพื้นบ้าน ทำให้ป่าชายเลนผืนสำคัญเสื่อมโทรมลงไป รวมทั้งปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมหาศาล อันจะทำให้โลกร้อนเพิ่มขึ้น

ด้านสุขภาพ จากมลพิษทางอากาศจากฝุ่น โลหะหนัก สารไฮโดรคาร์บอน ที่ปล่อยออกมาตลอด 24 ชั่วโมง แม้จะไม่เกินมาตรฐาน แต่ด้วยขนาดกำลังการผลิตที่ใหญ่มาก ทำให้จำนวนมลพิษสะสมในพื้นที่จนเป็นอันตรายต่อสุขภาพในระยะยาวอย่างแน่นอน

ด้านสังคม ต้องมีการย้ายประชาชนกว่า 240 ครัวเรือน หรือย้ายผู้คนนับพันคน กระทบต่อมัสยิดและกุโบร์(สุสาน) 2 แห่ง วัด 1 แห่ง และโรงเรียนปอเน๊าะอีก 1 แห่ง ซึ่งต้องย้ายออกไป กระทบต่อหลักศรัทธาของประชาชนในพื้นที่อย่างยิ่ง สภาพวิถีประมงพื้นบ้าน วิถีชีวิตของผู้คนในพื้นที่ที่ใช้ชีวิตบนฐานเกษตรกรรม จะเสื่อมทรุดและสาบสูญ
ด้านความมั่นคง โครงการดังกล่าวได้สร้างแตกแยกในชุมชน จากการที่ กฟผ.ใช้เงินซื้อทุกอย่าง ใช้อำนาจอิทธิพลข่มขู่ อีกทั้งพื้นที่เทพาและชายแดนใต้มีปัญหาสถานการณ์ความไม่สงบอยู่แล้ว โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาจะเป็นภัยแทรกซ้อนที่สำคัญและเป็นเงื่อนไขใหม่ต่อการปะทุของสถานการณ์ความไม่สงบได้

ปัจจุบัน กฟผ.ได้ส่งรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA)ให้กับทางสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.)แล้ว การศึกษาผลกระทบฯในรายงานของ กฟผ.นั้น ได้ใช้วิชามารในการจัดทำรายงานและไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนทางกฎหมายและวิชาการ กล่าวคือ

1. ได้มีการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และสังคม ในรัศมีเพียง 5 กิโลเมตร โดยมีเจตนาที่จะไม่ทำการศึกษาเข้าไปในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ทั้งๆที่หมู่บ้านแรกของปัตตานีห่างจากโครงการเพียง 7 กิโลเมตรเท่านั้น อันแสดงถึงความไร้หลักวิชาการ ทั้งๆที่ผลกระทบนั้นไกลถึง 100 กิโลเมตร

2. กระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทั้งการทำ ค.1 ค.2 และ ค.3 มีความฉ้อฉล มีการซื้อเสียงด้วยการแจกสิ่งของในเวที ค.1 ไม่มีการรับฟังกลุ่มเห็นต่างในการทำเวที ค.2 และมีการใช้กำลังปิดกั้นการมีส่วนร่วมในเวที ค.3 รวมทั้งไม่มีการจัดเวทีสร้างการรับรู้หรือการรับฟังความคิดเห็นใดๆในพื้นที่ปัตตานี ยะลา นราธิวาส แม้แต่ครั้งเดียว

ยิ่งเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2559 ที่ผ่านมา ทางสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้รับรองรายงานการศึกษาของคณะกรรมาธิการการพลังงานต่อข้อเสนอโรงไฟฟ้าถ่านหินปานาเระขนาด 1,000 เมกะวัตต์ ยิ่งมีความชัดเจน จังหวัดปัตตานีและจังหวัดสงขลา จะอบอวลไปด้วยมลพิษของควันถ่านหิน ซึ่งอาจจะหนักกว่าควันระเบิดและควันปืน เพราะมลพิษจากถ่านหินนั้นปล่อยออกมาตลอด 24 ชั่วโมงตลอด 40 ปี ซึ่งจะเกิดความเสื่อมโทรมต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพ ศาสนา และความแตกแยกในชุมชน

สถานการณ์ความไม่สงบชายแดนภาคใต้ในปัจจุบันมีสถานการณ์ที่ดีขึ้นบ้างแล้ว แต่ก็ยังเปราะบางมาก การเกิดขึ้นของโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งที่เทพาและปานาเระด้วยกระบวนการที่ไม่เป็นธรรม ไม่มีส่วนร่วมในการรับรู้และการร่วมตัดสินใจของประชาชน ไม่มีการศึกษาผลกระทบอย่างครบถ้วนรอบด้าน ไม่สามารถตอบคำถามข้อสงสัยของชุมชนได้แต่กลับไปใช้การแจกของแจกเสื้อแจกเงินและใช้การดูงานเป็นเครื่องมือซื้อเสียงแทน รวมทั้งในช่วงหลังๆที่ทาง กฟผ.หันไปใช้ภาพของอำนาจทหารภายใต้ มทบ.42 มาสร้างภาพเพื่อกดพื้นที่ไม่ให้คัดค้าน สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นการสร้างเงื่อนไขต่อการพัฒนาพื้นที่ชายแดนใต้อย่างยั่งยืนและต่อการสร้างสันติภาพชายแดนใต้ด้วย

ด้วยเหตุที่โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพามีความฉ้อฉลมากมาย จึงขอเชิญชวนพี่น้องคนไทยทั้งประเทศ โดยเฉพาะคนใต้ มาร่วมเดิน “เพื่อต่อลมหายใจคนชายแดนใต้” ในวันที่ 8-10 เมษายน 2559 จาก มอ.ปัตตานี สู่บ้านคลองประดู่ อำเภอเทพา เพื่อสร้างการรับรู้ต่อประชาชนในพื้นที่ และเรียกร้องต่อรัฐบาลให้ยกเลิกโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา

เครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ(PERMATAMAS)

เครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน
เครือข่ายนักศึกษา มอ.ปัตตานี เพื่อความเป็นธรรม
8 เมษายน 2559

นี่คือความเคลื่อนไหวล่าสุดสำหรับการต่อสู้ของภาคประชาชนต่อโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่เริ่มมีความเข้มข้นอยู่ตลอดเวลา ถึงแม้ว่าในส่วนของการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความได้เปรียบในการใช้กลไกอำนาจรัฐเพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ที่พรรคพ้องจะได้รับ แต่ทางภาคประชาชนที่มีจิตสำนึกในการออกมาส่งเสียงถึงความน่าหวาดกลัวของผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตกับพี่น้องในพื้นที่ก็ยังดำเนินต่อไป ถึงแม้ว่าสำหรับคนที่ออกมาป่าวร้องอยู่หน้าขบวนการเคลื่อนเพื่อต่อต้านยับยั้งในเรื่องนี้จะถูกข่มขู่คุกคามโดยนานาวิถี แต่พวกเขาก็ยังเดินหน้าต่อไป

ซึ่งลำพังการเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องทรัพยากรแหล่งอาหารของพี่น้องปาตานีในอาณาบริเวณลุ่มน้ำเทพาและอ่าวปาตานีค่อนข้างที่จะยากเย็นแสนเข็ญยิ่งนักในการยับยั้งและต่อกรกับเหล่าผู้ที่มีบารมีและอิทธิพลคงไม่ใช่เรื่องง่าย หากไร้ซึ่งการออกมาสนับสนุนจากผู้มีจิตสำนึกเพื่อพี่น้องที่อยู่ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงทั้งต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีในอนาคต โดยเฉพาะผู้ที่มีตำแหน่งทางสังคม

อย่างน้อยเพื่อให้ผู้ที่กำลังพยายามจะผลักดันก่อสร้างจะได้เห็นแต่ผลประโยชน์ส่วนตนจะได้เบาบางทุเลาลงและอาจพิจารณาโครงการนี้เสียใหม่อีกครั้ง