หน้าแรก รายงาน

ครั้งแรกบนแผ่นดินฟาตอนี กับ 8 หนังสั้น “Film For Fatoni”

นิรันดร เลาะนะ (ภาพจาก Facebook)

หนังสั้น‬ 8 เรื่องราวในความทรงจำของผู้คนบนแหลมมลายูฟาตอนี‬‬‬ #1 Film For Fatoni ครั้งแรกของชายแดนใต้ที่เปิดฉายฟรี รับบริจาคช่วยเหลือครอบครัวปอเนาะญิฮาดและนำเสนอฝีมือทำหนังของคนในพื้นที่

นิรันดร เลาะนะ อดีตคนทำหนัง ตัดสินใจกลับมาอยู่บ้านเกิดที่ อ.แว้ง จ.นราธิวาส ถ่ายทอดเรื่องราวของชาวแว้ง ในนามกลุ่ม “แว้งที่รัก” และถ่ายทอดเรื่องราวดีๆ ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือต้นคิดในเรื่องนี้

นิรันดรกล่าวว่า จากที่เคยทำงานในวงการหนังในกรุงเทพฯ มาถึง 26 ปี เมื่อตัดสินใจกลับไปยังบ้านเกิดในจังหวะที่เทคโนโลยีการถ่ายภาพมาพร้อมโทรศัพท์ กล้องราคาถูกลง เฟสบุ๊กได้รับความนิยม ทำให้การผลิตหนังไม่ต้องลงทุนมากเช่นเดิม การผลิตหนังสั้นได้รับความสนใจอย่างสูงจากคนในพื้นที่ เขาและกลุ่มเพื่อนๆ อีกหลายคนจึงพยายามสนับสนุนให้มีการอบรมทำหนังสั้นหลายครั้งโดยนำองค์ความรู้ในเรื่องการทำหนังไปให้คนที่สนใจเพื่อให้เข้าใจวิธีการและการนำเสนอเนื้อหา

“ผมได้สอนทำหนังสั้นครั้งแรกที่อ่าวมะนาว นราธิวาส ใช้เวลา 5 วัน สอนเขียนบท ถ่ายทำ ตัดต่อ เอาหนังมาตรวจกัน น้องๆ หลายคนที่ได้รับโอกาส มีไอเดียดี เขารับได้ในสิ่งที่เราสอน หนังเขาน่าสนใจมาก จนปี 2556 มาสอนอีกครั้งที่ตะโละกาโปร์ มีน้องคนนึงไปเห็นปอเนาะญิฮาด เขาถามว่าทำไมถูกสั่งปิด เมื่อรู้คำตอบเขาสนใจที่จะทำหนังสารคดีที่ปอเนาะญิฮาด แต่ทหารไม่ให้ถ่ายทำ เขาจึงไปถ่ายทำที่อื่นสมมุติว่าเป็นปอเนาะญิฮาด ซึ่งจากค่ายนี้ได้หนังสั้นมา 8 เรื่อง”

“จนเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2559 ศาลตัดสินสั่งยึดที่ดินปอเนาะญิฮาดเป็นของรัฐ ทำให้ผมคิดย้อนกลับไปเมื่อปี 2556 ที่ผมกับเพื่อนๆ มาเปิดค่ายสอนน้องทำหนังสั้นในชุมชนใกล้ๆ กับปอเนาะแห่งนี้ ตรงนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ให้ผมทำเรื่อง “เสียงแห่งความเงียบ” เรื่องราวความจริงของปอเนาะญิฮาด ได้ร่วมมือกับหลายกลุ่มที่ทำงานเพื่อสังคมในพื้นที่ จัดฉายหนังสั้นที่ผลิตโดยกลุ่มผู้ผลิตในพื้นที่ เป็นครั้งแรกในการนำเสนอผลงานเพื่อต้องการแสดงผลงานของคนในพื้นที่ สร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ที่สนใจจะผลิตหนังสั้น รวมทั้งเพื่อระดมทุนช่วยเหลือครอบครัวอดีตผู้บริหารโรงเรียนปอเนาะญิฮาดวิทยาที่กำลังรวบรวมทุนเพื่อจัดตั้งโรงเรียนปอเนาะขึ้นมาใหม่ โดยเป็นการฉายหนังที่เปิดให้ผู้สนใจเข้าชมและเชิญชวนให้บริจาคเงินตามศรัทธา อยากให้ทุกคนได้ดูกัน เพราะหนังคือกระจกที่สะท้อนความเป็นจริงในยุคสมัยของมัน ผู้ใหญ่ควรสนับสนุนเปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้ลงมือทำ” นิรันดรกล่าว

นิรันดรเปิดเผยว่า หนังสั้นเหล่านี้เป็นผลงานของผู้คนในพื้นที่ ทุกเรื่องนำเอาศิลปะ ความงาม วัฒนธรรมมาช่วยดับไฟใต้ อาจเป็นการแก้ปัญหาระยะยาวได้ และต้องมีทุนและองค์ความรู้ในการพัฒนาฝีมือทำหนังให้จริงจังมากขึ้น
หนังสั้น 8 เรื่องราวในความทรงจำของผู้คนบนแหลมมลายูฟาตอนี คือ

FullSizeRender11.” Journey In Patani” เรื่องราวผ่านชายคนหนึ่งกับการเดินทางไปในสถานที่ 56 แห่งทั่วทั้ง 3 จังหวัดชายแดนใต้ เพื่อค้นหาความสุขที่มีอยู่ในพื้นที่แห่งนี้ภายในเวลา 4 นาที

สุไลมาน เจ๊ะแม ชายหนุ่มจากนราธิวาส ตัวแทนสื่อเรื่องราวนี้บอกว่า “จากการชอบเดินทางท่องเที่ยว ทำให้เห็นว่าบ้านเรายังมีสถานที่สวยงามน่าค้นหาอีกมาก เราเป็นคนในที่มองชัดและลึกซึ้ง อยากถ่ายทอดมุมดีงามเหล่านี้ผ่านภาพ โดยไม่ต้องมีคำพูดหรืออธิบาย อยากให้คนบ้านเราสื่อสารเรื่องราวในพื้นที่ผ่านหนังให้มากขึ้นเพราะเป็นการสอดแทรกสาระเนื้อหาของพื้นที่ได้เป็นอย่างดี”

2. “สันติ(ภาพ)” หนังสั้นเรื่องนี้เป็นฝีมือทีม SATU ADDI เด็กมัธยมจากโรงเรียนอัดดีนียาตุลอิสลามียะห์ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส คว้า 2 รางวัล ได้แก่ รางวัลชนะเลิศหนังสั้นอัตลักษณ์ชายแดนใต้ และรางวัลบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากกรมประชาสัมพันธ์ ถ่ายทอดสันติภาพในพื้นที่ผ่านภาพถ่ายของชายหนุ่มที่เข้ามาสัมผัสด้วยตัวเองว่า พื้นที่แห่งนี้มีแง่มุมงดงามน่าชื่นใจอีกมาก

3. “แว้งที่รัก” ถ่ายทอดความทรงจำวันวานของเด็กไทยพุทธท่ามกลางผองเพื่อนมุสลิมในอำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส ดินแดนที่อบอวลด้วยความรักและความเอื้ออาทรของคนต่างศาสนา หนังสร้างมาจากหนังสือวรรณกรรมเยาวชนชื่อ “แว้งที่รัก” โดย ชบาบาน เขียนบทและกำกับโดยนิรันดร เลาะนะ

4. “สันติ(แค่)ภาพ” ความทรงจำ ความหวัง ความรักของภรรยาสาวที่มีต่อสามีที่ถูกคุมขังในเรือนจำข้อหาคดีความมั่นคง ด้วยความอดทน รอคอยการกลับมาของสามี หนังสั้นเรื่องแรกของกูยิ อีแตและผองเพื่อนที่มีชีวิตเสี่ยงกับการถูกจับในข้อหาคดีความมั่นคงได้ทุกเมื่อ

5. “สามเกลอแห่งสายบุรี” เรื่องราวความสัมพันธ์ของเพื่อนรักต่างความเชื่อ ความศรัทธาที่ใช้ชีวิตบนดินแดนประวัติศาสตร์แห่งกาลเวลา ก้าวข้ามความขัดแย้งมาอย่างยืนยาวและยังคงอยู่

6. “เขาชื่ออัสฮารี” การทวงถามความยุติธรรมถึงความจริงของการเสียชีวิตที่มาจากการซ้อมทรมานจากเจ้าหน้าที่รัฐ จนเป็นผลสำเร็จ การันตีด้วยรางวัลสารคดีข่าวยอดเยี่ยมจากองค์กรต่างประเทศ

7. “เสียงแห่งความเงียบ” เมื่อปอเนาะถูกปิด บาบอโดนยิง ที่ดินถูกยึด แม้กระทั่งความเงียบยังต้องส่งเสียงร้องขอความเป็นธรรม ความจริงจากปากของหลานเจ้าของปอเนาะญิฮาด

และ 8. “In the name of HJ. Sulong” หนังตัวอย่างเปิดตัวโปรเจคหนังในฝันของชาวมลายูปาตานี “นามนั้นชื่อ หะยีสุหลง” ภาพยนตร์สุดยิ่งใหญ่เรื่องราวของชายมลายูที่เกิดก่อนยุคสมัยกับความหวังอันมลังเมลืองในสันติสุขที่หายไป

“การจัดฉายหนังสั้นครั้งแรกได้รับแรงสนับสนุนค่อนข้างมาก ทั้งความสนใจในเรื่องหนังจากฝีมือผู้ผลิตในพื้นที่และเรื่องการระดมทุนช่วยเหลือครอบครัวแวมะนอ อดีตผู้บริหารโรงเรียนปอเนาะญิฮาดวิทยาซึ่งถูกทางการยึดที่ดินไปตามคำตัดสินของศาล แม้ครอบครัวแวมะนอไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดี หากเมื่อศาลตัดสินยึดที่ดินก็ต้องย้ายออก และไปอาศัยในมัสยิดประจำหมู่บ้าน มีคนจำนวนมากไปเยี่ยมและมอบเงินให้เพื่อจะได้นำไปซื้อที่ดินจัดสร้างโรงเรียนปอเนาะใหม่รวมทั้งหาที่อยู่ให้กับครอบครัวแวมะนอ ซึ่งความสนใจของสังคมที่จะช่วยเหลือครอบครัวนี้จะส่งผลให้โครงการจัดฉายหนังสั้นเหล่านี้ได้รับความสนใจมากขึ้นไปด้วย”

สำหรับกำหนดการฉาย วันอาทิตย์ที่ 13 มี.ค. ร้าน IN_T_AF patani วันจันทร์ที่ 14 มี.ค. ห้องฉายหนัง 300 วสส. ม.อ. ปัตตานี เวลา 14.00 – 16.00 น. วันอังคาร ที่ 15 มี.ค. ห้องจะบังติกอ โรงแรมซี.เอส ปัตตานี เวลา 13.00 – 15.30 น. วันศุกร์ที่ 18 มี.ค. บ้านหะยีสุหลง ปัตตานี เวลา 19.00 – 21.30น. วันเสาร์ที่ 19 มี.ค.ฉายที่ปอเนาะญิฮาด อ.ยะหริ่ง ปัตตานี เวลา 19.30 – 21.30น.วันอาทิตย์ที่ 20 มี.ค. ฉายที่ TK Park YALA เวลา 14.00 – 16.30 น. และกำลังประสานงานไปฉายที่ม.รามคำแหงและ ม.ธรรมศาสตร์ เชียงใหม่และกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย

เรื่องราวบนแผ่นฟิล์มเหล่านี้ คงสร้างความเข้าใจที่ดีขึ้นให้กับสังคมวงกว้างที่มีต่อผู้คนและพื้นที่ชายแดนใต้แห่งนี้…