หน้าแรก ข่าวในประเทศ ข่าวชายแดนใต้

สถานการณ์-เศรษฐกิจทรุด ชาวเมืองยะลาร้องหอการค้าช่วยเร่งด่วน

ผู้ประกอบการรายย่อยในพื้นที่อำเภอเมืองยะลารวมตัวร้องขอความช่วยเหลือจากหอการค้าจังหวัดยะลาในวิกฤติผลกระทบจากปัญหาราคายางพาราตกต่ำกับสถานการณ์ความไม่สงบตลอดมาอย่างยาวนานจนรอเวลาปิดกิจการ ประธานหอการค้าจังหวัดยะลารับปากจะหาแหล่งทุนมาช่วยเร่งด่วน พร้อมยื่นข้อเสนอและปัญหาแก่กรอ.เมื่อวันที่ 16 มิถุนายนที่ผ่านมา

ผู้ประกอบการรายย่อยในอำเภอเมือง จ.ยะลา จำนวน 200 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการรถเข็น แผงลอย ไม่มีทะเบียนการค้า รวมตัวบอกเล่าปัญหาและข้อเสนอแก่ทางหอการค้าจังหวัดยะลา โดยมี นายกันต์พงษ์ ลิ่มกาญจนา ประธานหอการค้าจังหวัดยะลารับทราบและรับเรื่อง ณ หอการค้าจังหวัดยะลา

นายกันต์พงษ์ ลิ่มกาญจนา ประธานหอการค้าจังหวัดยะลา

หอการค้าจังหวัดยะลาได้จัดแบ่งประเภทปัญหาของพี่น้องที่มาร้องเรียนคือ 1.ประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง เป็นหนี้นอกระบบเช่น กู้หมวกกันน๊อค จะพิจารณาช่วยแบบเร่งด่วน กู้นอกระบบดอกเบี้ยโหดจะเร่งช่วยทันที 2.พวกหนี้ในระบบ SME หนี้ธนาคารต่างๆ แต่หมดทุน 3.หนี้สารพัดบัตรเครดิตต่างๆ4.ไม่มีหนี้แต่หมดทุน

นายกันต์พงษ์ กล่าวว่า จะนำปัญหาความเดือดร้อนเข้าสู่การประชุมประจำเดือนของกรรมการร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชน(กรอ.) ในวันที่ 16 มิถุนายนนี้ รวมทั้งเป็นนโยบายของหอการค้าไทยที่มี SME Clinic บริการแก่ผู้ประกอบการรายย่อยที่เป็นสมาชิกและไม่เป็นสมาชิก

“จะเร่งผลักดันให้ภาครัฐรู้ว่าผู้ประกอบการได้รับผลกระทบจากการเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน เงินกู้นอกระบบที่รัฐให้ลงทะเบียนแต่ไม่ได้แก้ปัญหา ถ้ายังไม่แก้ก็หายใจไม่ได้ ให้ภาครัฐลงมาดูแล ให้มีการค้ำประกันตนเอง รัฐมุ่งไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 แต่ 1.0 ยังไปไหนไม่ได้ ชาวบ้านยังมีปัญหาทั่วไป ต้องแก้ปัญหาพื้นฐานนี้ก่อนถึงจะไปได้ ขณะนี้ทางอุตสาหกรรมจังหวัดยะลามีเงินที่ช่วยเหลือผู้ประกอบการอีก 173 ล้าน ซึ่งจะอนุมัติสำหรับผู้ขอกู้ที่นำไปลงทุนในนวัตกรรมหรือต่อยอดธุรกิจ ปลอดการชำระคืนในเวลา 3 ปี ชำระทั้งหมดภายในเวลา 7 ปี ดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปี เช่น กู้ 1 ล้านบาท ดอกเบี้ย 1,000 บาทต่อเดือน เราต้องทำงานเข้าด้วยกัน ช่องทางไหนที่ช่วยได้ก็ต้องทำ เมื่อเอาปัญหามาคุยกันซึ่งเป็นความจริงทั้งหมดก็ต้องหาทางแก้ไขกันต่อไปอย่างเร็วที่สุด”

นางจินตนา แซ่ด่าน เจ้าของร้านมือถือ ตลาดเมืองใหม่ กล่าวว่า ลงทุนไปหลายแสนเมื่อ 3-4 เดือนที่ผ่านมา ยิ่งแย่ลงเรื่อยๆ ขายของไม่ได้ มีแต่ต้องควักทุนออกมา ตอนนี้ยังไม่เป็นหนี้ แต่ในอนาคตคาดว่าต้องเป็นหนี้แน่นอน

“เมื่อก่อนมีรายได้จากการรับออเดอร์สั่งของจากทางค่ายทหาร เป็นของเบ็ดเตล็ด เมื่อเขาสั่งมา เราก็จัดหาและเสี่ยงตายไปส่ง แต่ตายหนักเมื่อเจ้าหน้าที่กลับไป ตายไปเรื่อยๆ เพราะขาดรายได้ ไม่มีการกระจายเม็ดเงิน ซึ่งมีหลายรายที่หมดอาชีพไป ต้องมานับหนึ่งใหม่ เมื่อมีแต่คนในพื้นที่ที่ทำการเกษตรเป็นส่วนใหญ่ กำลังซื้อก็ลดลงจากราคายางที่ดิ่งลงทุกวัน มีชาวบ้านมาซื้อหอมใหญ่สองหัวในตลาดแล้วกลับเพราะไม่มีเงิน พอมาทำร้านมือถือยิ่งไปกันใหญ่ รับไม่ได้จริงๆ กับสถานการณ์และเศรษฐกิจในตอนนี้ อยากให้รัฐช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจดีกว่านี้หน่อย เวลามีเงินมาช่วยไม่เคยถึงคนอย่างเรา แต่ไม่เอาเงินกู้มาเพิ่มหนี้ ถ้าทำอะไรไม่ได้คงตายเหมือนกัน”

ด้าน นางสาวฐิติกุล ทองพลัด เจ้าของร้านเสื้อผ้าโอเวอร์ไซส์ ชาวนครศรีธรรมราชที่มาปักหลักค้าขายในเมืองยะลากว่า 20 ปี บอกว่า ปีนี้เศรษฐกิจย่ำแย่มากที่สุด

“อยู่ยะลามากว่า 20 ปี ไม่เคยเจอสถานการณ์ที่ย่ำแย่เหมือนปีนี้ คนไม่ออกมาจับจ่าย คนไม่มีเงิน ถนนเงียบ ทั้งสถานการณ์ในพื้นที่ ยางราคาตก เปิดเทอม ปอซอ มาพร้อมๆ กัน ไม่เคยรู้สึกหมดหวังแบบนี้ ตอนนี้ไม่มีการลงทุนแล้ว มีแต่หาเงินนอกระบบมาต่อลมหายใจ ซึ่งเพื่อนให้ยืมมา ดอกเบี้ยน้อยกว่ารายเล็กๆ ที่ต้องจ่ายร้อยละ 10 หรือ 20 ที่อยู่ไม่ได้กันแล้ว ส่วนตัวลงทุนไปเยอะในแต่ละเดือน ขาดทุนเดือนเป็นแสน พอกพูนมาเรื่อยๆ ขายได้วันละพันเท่ากับต้องเอาทุนมาจ่าย ไม่ต้องคิดถึงกำไร จ่ายทุนไปสักสามเดือนก็ 9 แสนแล้ว

อยากให้ช่วยหาแหล่งเงินทุนที่ดอกเบี้ยถูกมาถึงพวกเราบ้าง ไม่ต้องเครียดมาก แต่ที่ทราบคือได้แต่รายใหญ่ๆ ไม่เคยถึงรายย่อย เมื่อไปทำเรื่องกู้กับธนาคารก็ยุ่งยาก ช่วยหาวิธีง่ายๆ ที่พวกเราได้เข้าถึงบ้าง”

ฐิติกุลเป็นเสาหลักของครอบครัวที่หารายได้ ดูแลพ่อแม่ซึ่งอยู่ที่นครศรีธรรมราช ซึ่งครอบครัวอยากให้กลับไปอยู่ที่บ้านเกิด แต่เธอบอกว่า รักเมืองยะลาด้วยจิตใจของพี่น้องที่นี่ ขออยู่ที่ยะลาตลอดไป

ส่วน นางสาวสุทธิดา เพ็ชรรัตน์ อาชีพค้าขายผลไม้ ซึ่งต้องการกู้เงินเพื่อไปต่อยอดทำห้องเย็นเก็บรักษาผลไม้ ที่ผ่านมาธนาคารไม่อนุมัติ เมื่อได้มาพูดคุยกับทางหอการค้าซึ่งได้ให้คำแนะนำให้ไปปรึกษากับทางอุตสาหกรรมจังหวัดซึ่งมีเงินกู้เพื่อต่อยอดนวัตกรรม ทำให้มีกำลังใจที่จะสู้ต่อ

ผู้ชาย(ขอสงวนนาม) ในที่ประชุมคนหนึ่งกล่าวว่า รัฐเอาเงิน 300 กว่าล้านไปซื้อตึกชางลีเพื่อหน้าตาของเมือง แต่ไม่ได้ช่วยอะไรแก่ชาวบ้าน ทั้งที่เป็นเงินก้อนใหญ่ หากกระจายให้เป็นเงินทุนหมุนเวียน กระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่เป็นการพิเศษ คงได้หายใจคล่องกันมากกว่านี้

ขณะที่ดอกเบี้ยรายวันยังคงคุกคามและต้องจ่ายกันอยู่ทุกวัน …..

ต้องติดตามกันต่อว่า เมื่อประธานหอการค้าจังหวัดยะลาได้ยื่นเรื่องแก่กรอ.แล้ว ความคืบหน้าจะเป็นอย่างไร ได้รับการแก้ไข ช่วยเหลือ ตามช่องทางใดบ้าง