หน้าแรก บทความ

“12 ปีตากใบ” โศกนาฏกรรมและบาดแผลใหม่แห่งประวัติศาสตร์ชายแดนใต้?

ภาพเหตุการณ์ในวันที่ 25 ต.ค. 2547 บริเวณหน้า สภ.อ.ตากใบ จ.นราธิวาส (ภาพ manager)

กว่าสิบสองปีที่เหตุการณ์ความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ที่เริ่มขึ้นนับตั้งแต่ปี 2547 จวบกระทั่งปัจจุบัน อย่างไรก็ตามความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้นำมาซึ่งผลกระทบให้กับวิถีชีวิตของคนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้และบางอำเภอในจังหวัดสงขลาอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ ไม่ว่าจะโดยทางตรงหรืออ้อม

และในการนี้ความรุนแรงหนึ่งที่ได้กัดกร่อนสุขภาวะทางจิตใจของคนในพื้นที่ก็คือ ผลกระทบในด้านจิตใจและความหวาดระแวงที่นับวันยิ่งมีความแผ่กว้างออกไป ที่ยังคงคอยตามหลอกหลอนความคิดความอ่านของผู้คนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อคนมลายู ที่โดยนัยยะแล้ว คือบุคคลที่ได้กลายเป็นเหยื่อของตัวบทกฎหมายที่ถูกประกาศใช้โดยส่วนกลาง อย่างเช่น กฎอัยการศึก กฎหมายพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการฉุกเฉิน และแม้กระทั่งพ.ร.บ.ความมั่นคง

ตลอดระยะเวลาสิบสองขวบปีเศษที่ผ่านมา ได้เกิดเหตุการณ์ใหญ่ๆ อย่างมากมาย ทั้งที่มีความหมายในเชิงสัญลักษณ์หรือแม้กระทั่งที่มีความหมายในการส่งสัญญาณจากฝ่ายตรงข้าม หรือที่รู้จักกันในฐานะ “ภาษาความรุนแรง” ซึ่งทั้งหมดนั้นคือการขับเคลื่อนของพฤติการณ์ภาพของความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้

ซึ่งหนึ่งในเหตุการณ์ที่ยังคงอยู่ในความทรงจำของสังคมมลายูร่วมสมัยก็คือ เหตุการณ์การสลายการชุมนุมที่หน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 เหตุการณ์ในครั้งนี้ทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายสิบราย ซึ่งแทบทั้งหมดของผู้เสียชีวิต เสียชีวิตลงในระหว่างการเคลื่อนย้ายไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ซึ่งมีระยะทางเกือบสองร้อยกิโลเมตร และยิ่งไปกว่านั้นระยะเวลาในการเคลื่อนย้ายได้ใช้เวลาไม่ตำกว่า 5 ชั่วโมง อีกทั้งบรรดาผู้ชุมนุมที่ถูกควบคุมตัวและเคลื่อนย้ายดังกล่าว ถูกวางทับเป็นชั้นๆ บนรถบรรทุกทหาร ประกอบกับเป็นช่วงของการถือศีลอดของพี่น้องชาวมุสลิมอีกด้วย ประกอบกับในช่วงการเดินทางมีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เหตุการณ์ในวันนั้นยิ่งมีความเลวร้ายขึ้นไปหลายคณานับ

กรณีตากใบ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2547 ในอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตถึง 85 คน ซึ่งถูกบันลงในเว็บไซต์ชื่อดังอย่างวิกิพีเดียอีกด้วย ที่ได้บันทึกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ณ วันนั้น มีบันทึกดังนี้ เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อชายท้องถิ่นหกคนถูกจับกุมข้อหายาเสพติดและยักยอกอาวุธปืนของทางราช และได้มีการเดินขบวนเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวทั้งหกคนดังกล่าว เพราะไม่พอใจ มีการล้อมโรงพักตำรวจและเข้ามาทำร้ายเจ้าหน้าที่ จากนั้นเจ้าหน้าได้เรียกกำลังเสริมจากกองทัพ หลังจากผู้เดินขบวนบางคนได้ขว้างปาก้อนหินและพยายามปิดล้อมสถานีตำรวจแล้ว เจ้าหน้าที่ความมั่นคงได้ใช้แก๊สน้ำตาและยิงตอบโต้

ประชาชนท้องถิ่นหลายร้อยคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชายวัยรุ่น ได้ถูกจับกุม กลุ่มคนเหล่านี้ถูกถอดเสื้อ ผูกมือไพล่ติดกับหลัง และถูกจัดท่าให้นอนราบลงกับพื้น คลิปวิดีโอได้แสดงภาพทหารเตะและทุบตีประชาชนที่ถูกจับมัดไว้เรียบร้อยแล้วและนอนอยู่บนพื้นโดยไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ต่อมาในช่วงบ่ายวันเดียวกัน ผู้ที่ถูกจับกุมถูกทหารโยนเข้าไปในรถบรรทุกซึ่งจะนำไปส่งยังค่ายทหารในจังหวัดปัตตานี ผู้ที่ถูกจับกุมนอนทับกันถึงห้าหรือหกชั้นในรถบรรทุก และเมื่อรถบรรทุกดังกล่าวมาถึงค่ายทหารในอีกสามชั่วโมงถัดมา หลายคนก็เสียชีวิตไปแล้วเนื่องจากขาดอากาศหายใจ

รายงานอ้างว่ามีผู้เสียชีวิต 7 คนจากบาดแผลกระสุนปืน ส่วนที่เหลือเชื่อกันว่าเสียชีวิตเนื่องจากขาดอากาศหายใจหรือถูกทุบตี (ที่มา วิกิพีเดีย )

เมื่อการเยียวยาคือมาตรการสุดท้ายของรัฐ

หลังจากที่ได้เกิดเหตุการณ์โศกนาฏกรรมดังกล่าว หลายฝ่ายต่างออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องความยุติธรรมจากรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาคประชาสังคมและกลุ่มคนที่เคลื่อนไหวในด้านเพื่อสิทธิมนุษยชนทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้รัฐบาลออกมาชี้แจงต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นก็เพื่อสืบหาผู้กระทำความผิดในครั้งนี้ให้ได้ ซึ่งในการนี้ทางรัฐบาลได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระสอบข้อเท็จจริง กรณีมีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์อำเภอตากใบ และถึงแม้ว่าการตรวจสอบของหน่วยงานที่แต่งตั้งโดยรัฐจะออกมาให้คำตอบแก่สาธารณชนว่า ผู้เสียชีวิตทั้งหมดเสียชีวิตเพราะขาดอากาศหายใจ แต่สำหรับประชาชนมลายูและสังคมโดยทั่วไปแล้ว เสมือนเป็นเหตุผลที่เป็นการแก้ต่างอย่างหน้าตาซื่อ และในเมื่อทุกอย่างลงเอยเช่นนั้น ทุกสิ่งอย่างเป็นอันต้องยุติลง และในขณะเดียวกันการสืบสาวควานหาผู้กระทำผิดก็ต้องเป็นอันยุติไปโดยปริยาย ในเมื่อผู้เสียชีวิตทั้งหมดนั้นเสียชีวิตเพราะขาดอากาศหายใจ จึงเสมือนเป็นการป้ายสีอาชญากรให้กับ “บรรดาอากาศ” ที่ไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่าได้

เมื่อทุกอย่างได้บรรจบลงในสภาวะที่หลายฝ่ายมิคาดคิด มาตรการเพื่อการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบในครั้งนี้จึงเริ่มขึ้น ด้วยการประเมินราคาอย่างคราวๆ ซึ่งเป็นงบประมาณในจำนวนที่ไม่น้อยเลยทีเดียว แต่ถึงแม้จะมีการจ่ายเยียวยาเป็นจำนวนเงินสักปานใด มันก็มิอาจเทียบเคียงได้สำหรับการที่สูญเสียชีวิตของคนคนหนึ่งไปโดยฝีมือของผู้มีอำนาจ

ตัวเลขการเยียวยาเหยื่อตากใบ

ซึ่งตัวเลขการเยียวยาเหยื่อตากใบเป็นเงินจำนวน 641 ล้านบาท

ตัวเลขเงินเยียวยากรณีตากใบในภาพรวมที่รัฐบาลจ่ายไปแล้ว เป็นเงินทั้งสิ้น 641,451,200 บาท ทั้งนี้ไม่นับรวมค่าเสียหายทางแพ่งที่กองทัพบกจ่ายในคดีแพ่ง และไม่นับรวมถึงเงินเยียวยาเบื้องต้นหลังเกิดเหตุที่มีจ่ายกันประปราย

ในจำนวนเงินเยียวยา 641,451,200 บาท แยกเป็น

– ผู้เสียชีวิต 85 ราย เป็นเงิน 561,101,000 บาท

– ผู้ได้รับบาดเจ็บ 51 ราย จ่ายไปแล้ว 49 ราย เป็นเงิน 60,455,000 บาท โดยผู้ที่ยังตกหล่นอีก 2 คน คือ นายเจะลาซิ ทวีศักดิ์ กับ นายวัรตี มูซอ ไม่สามารถติดต่อได้ และเจ้าตัวไม่มาแสดงตน

– ทุพพลภาพ 1 ราย เป็นเงิน 6,380,000 บาท

– ผู้ที่ถูกรัฐดำเนินคดีแล้วอัยการถอนฟ้อง 58 ราย เป็นเงิน 2,025,200 บาท

– ผู้ที่ถูกควบคุมตัวแต่ไม่ถูกดำเนินคดี 1,280 ราย จ่ายไปแล้ว 766 ราย เป็นเงิน 11,490,000 บาท ส่วนที่เหลือ ไม่ได้มาแสดงตน

มูลเหตุของโศกนาฏกรรม

เหตุการณ์เริ่มขึ้นเมื่อได้มีกลุ่มผู้ชุมนุมทั้งชาย หญิง และเด็กจำนวนไม่มากนัก ได้มารวมตัวกันที่หน้า สถานีตำรวจตากใบ เพื่อเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจปล่อยตัวชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้านหรือชรบ. บ้านโคกกูแว หมู่ที่ 5 ตำบลพร่อน อำเภอตากใบ จำนวน 6 คน ซึ่งถูกควบคุมตัวในคดีก่อนหน้านี้ ฐานยักยอกทรัพย์สินของส่วนราชการและแจ้งความเท็จ หลังจากปืนลูกซองยาวของทางราชการที่อยู่ในความรับผิดชอบดูแลสูญหายไป

ซึ่งในช่วงนั้นได้เกิดเหตุการณ์คนร้ายกระจายกำลังบุกปล้นอาวุธปืนตามบ้านของผู้นำท้องถิ่นและ ชรบ.กันอย่างประปรายซึ่งได้ปืนไปเป็นกอบเป็นกำ โดยการสวมหมวกไอ้โม่งในช่วงปฏิบัติการบุกเข้าไปตอนกลางคืน ซึ่งได้ปืนไปเกือบทุกครั้ง ทำให้บางฝ่ายโดยเฉพาะฝ่ายเจ้าหน้าที่ได้ตั้งข้อสังเกตว่าอาจเป็นการสมรู้ร่วมคิดหรือสมยอม หรือการจัดฉาก กันระหว่าง ผู้ปฏิบัติการปล้น กับ ผู้ที่ถูกปล้นหรือไม่

อย่างไรก็ตามเมื่อเหตุการณ์ผ่านไปสักระยะจำนวนผู้ชุมนุมได้มีจำนวนที่เพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับกลุ่มไทยมุงที่เดินทางผ่านแถวนั้นด้วย ที่บังเอิญประสบเหตุและตกอยู่ในวงล้อมของเหตุการณ์โดยมิรู้ตัว และเมื่อผู้ชุมนุมเริ่มมีท่าทีแข็งกร้าวประกอบกับเหตุการณ์เสมือนตกภายใต้สภาวะแห่งความตึงเครียด ทำให้เจ้าหน้าที่ได้สินใจใช้กำลังในการสลายการชุมนุม โดยที่มีท่านแม่ทัพภาคที่สี่ พล.ท.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี เป็นสั่งการเอง ณ ขณะนั้น

อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ทุกอย่างได้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดความสูญเสียอย่างมากมายเช่นนี้ ยิ่งเมื่อเจ้าหน้าที่ได้กระทำการอย่างทารุณต่อกลุ่มผู้ชุมนุมด้วยแล้ว เสมือนไร้ซึ่งความปราณีและขาดศีลธรรมแห่งจริยธรรมและบรรทัดฐานของหลักการสิทธิมนุษยชน ซึ่งเมื่อดูจากพฤติการณ์การสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่แล้ว นับตั้งแต่การฉีดน้ำใส่และแก๊สน้ำตาใส่กลุ่มผู้ชุม และการกระทึบ ตบตี อย่างบ้ากำลัง จวบกระทั่งขั้นตอนการขนย้ายแล้ว คงไม่ต้องอธิบายอะไรมาก แค่หลับตาแล้วนึกถึงสภาพของผู้คนในขณะนั้นแล้ว คงจะพอคาดเดาได้ว่าพวกเขาเหล่านั้นต้องทนทุกข์ทรมานแบกความเจ็บปวดสักปานใด

ซึ่งเหตุการณ์การสลายการชุมนุมที่หน้าสถานีตำรวจตากใบ ในอีกแง่หนึ่งเป็นความเหลือมล้ำในทางปฏิบัติ เมื่อเทียบกับการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ต่อกลุ่มผู้ชุมนุมทางการเมืองกรุงเทพมหานครหรือในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศไทย เป็นความเหลือมล้ำ เป็นการดำเนินการบนความอคติและความเกลียดชังที่ฝังในมาอย่างยาวนาน ที่มิสามารถเห็นได้ดวยตาเปล่าได้ นอกจากการมองผ่านการกระทำที่เกิดขึ้น

ถึงแม้กว่าสิบสองปีแล้วเหตุการณ์ตากใบได้เกิดขึ้น แต่สำหรับผู้คนในพื้นที่มันคือ จุดเล็กๆ ของโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้น ที่คั่นระหว่างความรุนแรงระลอกเก่ากับความรุนแรงระลอกใหม่ที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะเกิดขึ้นในปี 2547 อันเป็นปีแห่งปฐมบทของเหตุการณ์ความรุนแรงครั้งใหม่ในปาตานี ถึงแม้ว่าจะเกิดขึ้นในช่วงท้ายปีก็ตาม